ทำหมันชาย Vasectomy
การทำหมันชาย การทำหมันชาย คือ การผูกตัดท่อนำเชื้ออสุจิซึ่งทำได้ง่าย สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย และปลอดภัยมาก บางตอนของท่อนำเชื้ออสุจิอยู่ตื้น และเราสามารถคลำได้ที่บริเวณอัณฑะทั้งสอง เมื่อใช้เครื่องมือจับท่อนำเชื้ออสุจิได้แล้ว จึงกรีดผิวหนังบริเวณที่คลุมท่อนี้เป็นแผลเล็กๆ พอที่จะผูกและตัดท่อได้ และเย็บปิดแผลเพียง ๑ หรือ ๒ เข็มเท่านั้น
การทำผ่าตัดนี้ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่เท่านั้น เมื่อทำผ่าตัดเสร็จ คนไข้จึงกลับบ้านได้ทันทีปัจจุบันนี้มีผู้พยายามคิดค้นทำให้ท่อน้ำเชื้ออสุจิตันโดยวิธีต่างๆ เช่น โดยการจี้ด้วยกระแสไฟฟ้า การใช้คลิปหนีบท่อไว้ และการใช้สารบางอย่างอุดท่อให้ตัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีผู้พยายามให้การทำหมันชายเป็นการทำหมันแบบชั่วคราว คือ สามารถทำให้ท่อนำเชื้ออสุจิเปิดใหม่ได้อีกเมื่อต้องการ แต่ยังไม่ได้ผลดีนัก
อาการแทรกซ้อนของการทำหมันชาย
โดยทั่วไปอาการแทรกซ้อนจากการทำหมันชายมีน้อยมาก และมักเป็นเพียงอาการเล็กๆน้อยๆเท่านั้น อาการที่พบ คือ
- อาการเจ็บที่แผล
- อาการบวมที่ลูกอัณฑะ
- การอักเสบหรือติดเชื้อของแผล
- เลือดออกคั่งอยู่ในลูกอัณฑะ อาการนี้อาจรุนแรงได้ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน แต่พบน้อยมากถ้าทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญ
- สเปิร์มแกรนูโลมา (sperm granuloma) คือ การมีแกรนูโลมาเกิดบริเวณที่ทำผ่าตัด แต่มักไม่มีอาการผิดปกติ
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำหมันชาย
- มีผู้เกรงไปว่า การทำหมันชายจะทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดต่ำลง แต่จากการศึกษาพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- มีผู้เข้าใจว่า การทำหมันชายจะทำให้สมรรถภาพทางเพศหรือความรู้สึกทางเพศเปลี่ยนแปลงความจริงการทำหมันไม่มีผลโดยตรงต่อสมรรถภาพหรือความรู้สึกทางเพศเลย นอกจากจะมีผลทางด้านจิตใจ เช่น เมื่อแน่ใจว่าไม่ต้องระวังเรื่องมีลูก ความต้องการทางเพศจึงเพิ่มขึ้นเพราะมีความสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าภรรยาหรือหญิงที่ตนมีความสัมพันธุ์ด้วยจะตั้งครรภ์ได้ ในทางตรงข้าม บางรายเกิดความรู้สึกไปในทางลบ เพราะเมื่อเห็นว่าตนมีลูกไม่ได้แล้ว จึงคิดว่าสมรรถภาพทางเพศจะลดตามไปด้วย ซึ่่งไม่เกี่ยวข้องกับการทำหมันเลย
หลักเกณฑ์ในการทำหมัน
- คู่สามีภรรยายินยอมและลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องมีข้อยกเว้น เช่น สำหรับหญิงที่ไม่มีสามีเป็นตัวเป็นตนแน่นอน
- จำนวนลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนมากมักถือจำนวน ๒-๓ คนเป็นเกณฑ์บางแห่ง สำหรับผู้ที่จะทำหมันหลังคลอดใหม่ (รวมคนที่คลอดใหม่ด้วย) ส่วนการทำหมันแห้งจะอนุญาตให้ทำได้เมื่อมีลูกแล้ว ๒ คน และลูกคนที่ ๒ อายุไม่ต่ำกว่า ๑ ปี ทั้งนี้เพราะระยะขวบปีแรกเป็นระยะที่อัตราการตายของเด็กยังสูง
- อายุของภรรยาหรือหญิงที่จะทำหมัน มีหลายประเทศกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ด้วย แต่ในประเทศไทยถือว่าถ้ามีจำนวนลูกตามเกณฑ์แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอายุ
- เหตุผลทางแพทย์หรือพันธุกรรม ในรายที่มีเหตุผลทางแพทย์หรือพันธุกรรม ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ทั้งข้อที่กล่าวมาแล้ว
คำแนะนำภายหลังการทำหมันชาย
- ควรพักผ่อนหลังผ่าตัดประมาณ 2 วัน
- งดออกกำลังกายหรือทำงานหนัก 7 วัน
- อย่าให้แผลเปียกน้ำใน 2 – 3 วันแรก ถ้าแผลเปียกน้ำควรทำความสะอาดแผลและปิดแผลใหม่
- ถ้าปวดแผลมาก ให้รับประทานยาแก้ปวดได้ตามแพทย์สั่ง
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ลูกอัณฑะบวมมากมีเลือดไหลออกจากแผล ควรรีบปรึกษาแพทย์
- งดร่วมเพศอย่างน้อยใน 3 วันแรกหลังผ่าตัดหลังจากนั้นถ้าจะมีเพศสัมพันธ์ ต้องคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยอีกประมาณ 3 เดือน
- เมื่อครบ 7 วัน ให้เอาผ้าปิดแผลออก ถ้าแผลไม่แห้งหรือแผลที่ต้องตัดไหม ให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อตรวจแผลหรือรับบริการตัดไหม
ทำหมันชายแล้วเป็นหมันทันทีหรือไม่
หมันชายทำแล้วไม่ได้เป็นหมันทันที ต้องรออีกประมาณ 3 เดือน หรือหลังจากมีการหลั่งน้ำเชื้อ แล้ว 20 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจน้ำเชื้อก่อนว่าไม่มีตัวอสุจิเหลืออยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์ให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยทุกครั้ง
การคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆ
การคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆ ทั้งที่เป็นแบบชั่วคราวและแบบถาวรจะเป็นวิธีที่ดีพร้อมได้ ถ้าประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้
- มีประสิทธิภาพสูง
- ปลอดภัย และมีอาการแทรกซ้อนน้อย
- การเจริญพันธุ์ กลับสู่ภาวะปกติภายหลังเลิกใช้ (ถ้าเป็นวิธีชั่วคราว)
- วิธีใช้ง่ายและสะดวก
- มีผู้นิยมใช้มาก
- ราคาถูก